หมวด 8
ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อื่นของสหกรณ์
ข้อ 61. การจ้างและการแต่งตั้งผู้จัดการ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถ และความเหมาะสมเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้จัดการของสหกรณ์ ในการจ้างผู้จัดการสหกรณ์ต้องทำหนังสือสัญญาจ้างไว้เป็นหลักฐาน และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกให้มีหลัก ประกันอันสมควร
ในการแต่งตั้งหรือจ้างผู้จัดการ ต้องให้ผู้จัดการรับทราบ และรับรองที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกำหนดไว้ในข้อ 62 เป็นลายลักษณ์อักษร
ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่ผู้จัดการ
(1) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทำโดยทุจริต
(2) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่
(3) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามมาตรา 22(4)
(4) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งผู้จัดการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
ข้อ 62. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทั่วไป และรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างเหล่านั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้เป็นการถูกต้องตามระเบียบ
(2) การเก็บค่าหุ้น โอนหุ้น และการจ่ายคืนค่าหุ้น ตามมติคณะกรรมการดำเนินการ
(3) รับฝากเงิน และจ่ายคืนเงินฝาก
(4) ตรวจสอบคำขอกู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้ทั้งปวงตามแบบที่สหกรณ์กำหนดไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วเสนอให้คณะกรรมการเงินกู้พิจารณา
(5) รับผิดชอบและดูแลการลงรายการในสมุดคู่บัญชีเงินกู้ให้แก่สมาชิกผู้กู้ให้เป็นการถูกต้อง
(6) กำกับดูแลในเรื่องการออกใบรับ เรียกใบรับหรือจัดให้มีใบสำคัญรับเกี่ยวกับการซื้อขายและการทำธุรกิจต่าง ๆ ของสหกรณ์ ทั้งนี้ต้องเป็นไปด้วยความเที่ยงตรงสุจริต
(7) พิจารณาจัดจ้างเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในระเบียบ รวมถึงกำหนดหน้าที่และวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ เก็บรักษาสัญญาจ้างและหลักประกันของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ให้ครบถ้วนและปลอดภัย
(8) เผยแพร่วิชาการประมง การผลิตทางอุตสาหกรรม หรือการประกอบอาชีพ การศึกษาอบรมทางสหกรณ์และทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มสมาชิก ตลอดจนการชักจูงการฝากเงิน และถือหุ้นเพิ่มในสหกรณ์
(9) เข้าร่วมประชุมและชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการประชุมใหญ่ และการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเว้นแต่ในกรณีซึ่งที่ประชุมนั้น ๆ มิให้เข้าร่วมประชุม
(10) รับผิดชอบตรวจสอบในการจัดทำบัญชี ทะเบียนต่างๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบ ถ้วนเป็นปัจจุบัน
(11) รับผิดชอบตรวจสอบการรับจ่ายเงินทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้องตลอดจนรวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการเงินของสหกรณ์ไว้โดยครบถ้วน
(12) เก็บรักษาเงินสดของสหกรณ์ ตามระเบียบที่สหกรณ์กำหนด
(13) เก็บรักษาตราประทับของสหกรณ์ และรับผิดชอบตรวจสอบทรัพย์สินต่างๆ ของสหกรณ์ ตลอดจนสินค้าอื่น ๆ ของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและปลอดภัย
(14) เสนอรายงานกิจการประจำเดือนของสหกรณ์ ต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(15) จัดทำประมาณการรายได้งบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนงานของสหกรณ์เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ
(16) รับผิดชอบจัดทำงบดุลรวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุนและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่
(17) เสนอรายการ หรือรายงานของสหกรณ์ ต่อทางราชการตามแบบและระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด
(18) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย หรือตามที่ควรกระทำเพื่อให้กิจการของสหกรณ์สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ข้อ 63. การมอบหมายงานในหน้าที่ผู้จัดการให้กรรมการดำเนินการ ถ้ายังมิได้มีการจัดจ้าง และแต่งตั้งผู้จัดการและเป็นกรณีที่สหกรณ์ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ในตำแหน่งอื่นด้วย ให้คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายงานในหน้าที่ผู้จัดการ ให้กรรมการดำเนินการคนใดคนหนึ่งตามที่เห็นสมควร
ข้อ 64. การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้จัดการ ถ้าตำแหน่งผู้จัดการว่างลงและยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งแทน หรือเมื่อผู้จัดการไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้ผู้ช่วยผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย เป็นผู้รักษาการแทน
ข้อ 65. การเปลี่ยนผู้จัดการ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนผู้จัดการ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ ต้องจัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงินตลอดจนสินค้าอื่นๆ ของสหกรณ์กับบรรดาทรัพย์สิน และหนี้สินตลอดจนทำงบดุลเพื่อทราบฐานะอันแท้จริงก่อนที่จะส่งมอบงาน
ข้อ 66. เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ นอกจากตำแหน่งผู้จัดการแล้วสหกรณ์อาจจัดจ้าง และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่นตามความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานในสหกรณ์ ทั้งนี้ตามระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
ที่ปรึกษา
ข้อ 67. ที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินการอาจเชิญสมาชิก หรือบุคคล ภายนอกซึ่งทรงคุณวุฒิและความสามารถเหมาะสม เป็นที่ปรึกษาได้เพื่อให้ความเห็นแนะนำในการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่สหกรณ์กำหนด
ผู้ตรวจสอบกิจการ
ข้อ 68. ผู้ตรวจสอบกิจการ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิก หรือบุคคลภายนอก จำนวน 3 คนเป็นผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์
คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบกิจการ และการทำงานของผู้ตรวจสอบกิจการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบว่าด้วยผู้ตรวจสอบกิจการ ที่สหกรณ์กำหนดขึ้น
ข้อ 69 วิธีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ ให้นำวิธีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการมาบังคับใช้โดยอนุโลม
ข้อ 70 ให้ที่ประชุมใหญ่กำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้ตรวจสอบกิจการ ในคราวที่มีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ โดยคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ คุณภาพงาน ปริมาณงาน และฐานะการเงินของสหกรณ์
ข้อ 71. การดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการอยู่ในตำแหน่งได้มีกำหนดเวลาสาม ปีนับแต่วันที่ได้รับการเลือกตั้ง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่ ก็ให้ผู้ตรวจสอบกิจการคนเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน
ผู้ตรวจสอบกิจการที่ออกไปนั้น อาจได้รับเลือกตั้งซ้ำ
ข้อ 72. อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ คือ
(1) ตรวจสอบเอกสาร สรรพสมุด บัญชี ทะเบียน และการเงินตลอดจนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งปวง ของสหกรณ์เพื่อทราบฐานะและข้อเท็จจริงของสหกรณ์ที่เป็นอยู่จริง
(2) ตรวจสอบหลักฐานและความถูกต้องของการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทของสหกรณ์เพื่อประเมินผล และอาจให้ข้อแนะนำแก่คณะกรรมการดำเนินการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของสหกรณ์ทั้งทางวิชาการ และทางปฏิบัติในกิจการนั้น ๆ
(3) ตรวจสอบการจัดจ้างและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ตลอดจนหนังสือ สัญญาจ้างและหลักประกัน
(4) ตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนงาน และการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์
(5) ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาเสนอรายการปรับปรุงแผนงาน ข้อบังคับ ระเบียบ มติ ตลอดจนคำสั่งต่าง ๆ
(6) ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติและคำสั่งของสหกรณ์ หรือกิจการอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร หรือที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินกิจการของสหกรณ์
(7) ให้ผู้ตรวจสอบกิจการ เสนอรายงานผลการตรวจสอบประจำเดือน ต่อคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมประจำเดือนคราวถัดไป แล้วเสนอผลการตรวจสอบประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ด้วย
ทรัพย์สินของสหกรณ์
ข้อ 73. ทรัพย์สินของสหกรณ์ การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของสหกรณ์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ด้วย
การลงมติเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ ตามความในวรรคแรกให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุม
หมวด 9
ข้อเบ็ดเตล็ด
ข้อ 74. ระเบียบของสหกรณ์ ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับนี้ และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงิน
(2) ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้ และดอกเบี้ยเงินกู้
(3) ระเบียบว่าด้วยการให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน
(4) ระเบียบว่าด้วยกลุ่มสมาชิก
(5) ระเบียบว่าด้วยการรับจ่าย และการเก็บรักษาเงิน
(6) ระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างสหกรณ์
(7) ระเบียบว่าด้วยการใช้ทุนสะสมเพื่อการพัฒนาและขยายกิจการ
(8) ระเบียบว่าด้วยที่ปรึกษา
(9) ระเบียบอื่น ๆ ที่คณะกรรมการดำเนินการเห็น สมควรกำหนดไว้เพื่อความสะดวก และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสหกรณ์
เฉพาะระเบียบข้อ (1), (3) ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์เสียก่อน จึงจะใช้บังคับได้ ส่วนระเบียบอื่น ๆ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการกำหนดใช้แล้วส่งสำเนาให้นายทะเบียนสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบ
ข้อ 75. การดำเนินคดีเกี่ยวกับความเสียหาย ในกรณีทรัพย์สินของสหกรณ์ถูกยักยอก หรือเสียหายโดยประการใดๆ ก็ดี หรือกรณีสหกรณ์เรียกคืนเงินกู้ตามข้อ 74 (2), (3) แต่มิได้รับชำระตามที่เรียกก็ดี คณะกรรมการดำเนินการต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ
ข้อ 76. การตีความในข้อบังคับ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความในข้อบังคับให้สหกรณ์ขอคำวินิจฉัยจากนายทะเบียนสหกรณ์ และให้สหกรณ์ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น
ข้อ 77. การแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับ สหกรณ์อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุมและให้สหกรณ์เสนอขอจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับนั้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนสหกรณ์แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมหรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ข้อบังคับนั้นจึงเป็นอันสมบูรณ์
การเสนอที่ประชุมใหญ่ พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับจะกระทำได้ต่อเมื่อได้แจ้งข้อความตามที่เสนอให้พิจารณานั้น โดยเต็มสำนวนไปให้สมาชิกทราบล่วงหน้าพร้อมกับหนังสือแจ้งนัดประชุม
ข้อ 78. การจำหน่ายทรัพย์สิน เมื่อสหกรณ์ต้องเลิกและได้จัดการชำระบัญชีโดยจำหน่ายทรัพย์สิน ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดทั้งจ่ายเงินรับฝากพร้อมด้วยดอกเบี้ย และชำระหนี้สินอื่นๆ ของสหกรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใด ให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับดังต่อไปนี้
(1) จ่ายคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิก ไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
(2) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินอัตราที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(3) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามข้อ 17(4)
เงินที่จ่ายตามข้อ (2) และ (3) เมื่อรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินยอดรวมแห่งจำนวนเงินกำไรสุทธิที่สหกรณ์หาได้ในระหว่างปีที่เลิกสหกรณ์กับทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลที่ถอนไปตามข้อ 17(6) ในปีนั้น
ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีก ให้โอนให้แก่สหกรณ์อื่น หรือสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ตามมติของที่ประชุมใหญ่ หรือด้วยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ ในกรณีที่ไม่อาจเรียกประชุมใหญ่ได้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จ
ข้อ 79. ในกรณีที่ข้อบังคับนี้มิได้กำหนดข้อความเรื่องใดไว้ ให้สหกรณ์รับบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดจนคำสั่ง หรือคำแนะนำ และระเบียบปฏิบัติของนายทะเบียนสหกรณ์ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งแห่งข้อบังคับนี้ด้วย
บทเฉพาะกาล
ข้อ 80. นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ระเบียบใดที่สหกรณ์ถือใช้อยู่ ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ถือใช้ และไม่ขัดกับข้อบังคับนี้ ให้ถือตามระเบียบนั้นไปก่อน จนกว่าสหกรณ์จะได้กำหนดระเบียบขึ้นถือใช้ใหม่
ข้อ 81. สมาชิก ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสมาชิกสหกรณ์ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้คงสมาชิกภาพ เป็นสมาชิกของสหกรณ์ มีสิทธิ และหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ ในข้อบังคับฉบับนี้ ทุกประการ