หมวด 7
คณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ 46. คณะกรรมการดำเนินการ ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก
การเสนอชื่อสมาชิกเพื่อรับการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการสรรหาคณะกรรมการดำเนินการที่สหกรณ์กำหนด
ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมีลักษณะตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ
(1) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(2) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่
(3) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ตามมาตรา 22 (4) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542
(4) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการ เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการดำเนินการ เป็นรองประธานสองคน เลขานุการ เหรัญญิก และตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และแจ้งให้สมาชิกทราบโดยเร็ว
ข้อ 47. อำนาจหน้าที่ ของกรรมการดำเนินการ แต่ละตำแหน่ง
(ก) ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการและควบคุมการประชุมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(2) ควบคุมดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(3) ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆในนามสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ มติหรือคำสั่งของสหกรณ์
(ข) รองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ แทนประธานกรรมการเมื่อไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานว่างลง
(2) ปฏิบัติการตามที่ประธานกรรมการมอบหมาย
(3) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ มติหรือ คำสั่งของสหกรณ์
(ค) เลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) จัดทำรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการทุกครั้ง
(2) ดูแลรักษาเอกสารและรายงานการประชุมของสหกรณ์ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
(3) แจ้งนัดการประชุมไปยังบรรดาสมาชิกหรือกรรมการดำเนินการแล้วแต่กรณี
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ มติหรือคำสั่งของสหกรณ์
(ง) เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ควบคุมดูแลตรวจสอบการรับจ่ายและการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(2) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย ภายใต้ข้อบังคับระเบียบ มติหรือคำสั่งของสหกรณ์
ข้อ 48. กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบ 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมด โดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
กรรมการดำเนินการสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน หากเมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมรักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีนั้น
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ 49. การพ้นจากตำแหน่ง กรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะหรือรายตัวเพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ถึงคราวออกตามวาระ
(2) ลาออกโดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(3) ลาออกทั้งคณะต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญ
(4) ขาดจากสมาชิกภาพ
(5) ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะหรือรายตัว
(6) ดำรงตำแหน่งประจำในสหกรณ์นี้
(7) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะหรือรายตัว
(8) ขาดการประชุมคณะกรรมการดำเนินการประจำเดือนติดต่อกัน 3 ครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันควร
(9) ผิดนัดการส่งชำระหนี้ทั้งในฐานะลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งได้รับการผ่อนผันแล้วจากคณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ 50. ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ (เว้นแต่เพราะเหตุตามข้อ 49 (7)) ให้กรรมการดำเนินการที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ ประชุมดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ ซึ่งจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนตำแหน่งที่ว่าง แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงเหลือน้อยกว่าองค์ประชุม กรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะประชุมดำเนินกิจการใดๆ ไม่ได้ นอกจากจะต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว
ข้อ 51. การประชุมและองค์ประชุม ให้คณะกรรมการดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่ต้องให้มี การประชุมเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย
ให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ หรือเหรัญญิก เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการได้ ในกรณีที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบข้อบังคับและเรื่องที่สำคัญอื่น ๆ ของสหกรณ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบด้วยทุกคราว
ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
ข้อ 52. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนของสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้ คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการดำเนินการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้
การมอบหมายให้กรรมการดำเนินการคนใด หรือผู้จัดการทำการแทนคณะกรรมการดำเนินการในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ต้องบันทึกไว้ในรายงานการประชุม พร้อมกับให้ประธานกรรมการทำเป็นหนังสือแต่งตั้งหรือมอบหมายไว้เป็นหลักฐานด้วย
ในการดำเนินกิจการ คณะกรรมการดำเนินการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อุดมการณ์สหกรณ์ หลักการสหกรณ์ วิธีการสหกรณ์ กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบและมติของที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนในทางอันสมควร เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่สหกรณ์ทั้งนี้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งข้อต่อไปนี้
(1) ดำเนินการในเรื่องรับสมาชิกให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามข้อบังคับและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(2) ดำเนินการในเรื่องสมาชิกออกจากสหกรณ์ให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามข้อบังคับและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(3) พิจารณาดำเนินการในเรื่องการรับฝากเงินจากสมาชิก การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้และการฝากหรือลงทุนเงินของสหกรณ์
(4) กำหนดและดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ และเสนองบดุลกับรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่
(5) เสนอการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่
(6) จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาทะเบียนสมุดบัญชี เอกสารต่าง ๆ และบรรดาอุปกรณ์ดำเนินงานของสหกรณ์
(7) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
(8) พิจารณาดำเนินการเรื่องผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิก หรือที่ซื้อจากสหกรณ์อื่น หรือบุคคลอื่นเพื่อจำหน่าย
(9) พิจารณาดำเนินการเรื่องการจัดซื้อสิ่งของที่บรรดาสมาชิกมีความต้องการมาจำหน่าย
(10) วางข้อกำหนดและระเบียบวิธีการให้บริการต่าง ๆ รวมทั้งค่าเช่า ค่าบริการอื่น ๆ ที่สมาชิก และผู้ใช้บริการ ต้องชำระ
(11) พิจารณาดำเนินการเรื่องการจัดให้มีเครื่องมือเครื่องจักรกลเกี่ยวกับการผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรม หรือการบริการ
(12) พิจารณาดำเนินการ เรื่องการส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการประมง การผลิต การแปรรูปทางอุตสาหกรรม หรือการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการประมง
(13) พิจารณาเรื่องกิจกรรมกลุ่ม รวมกันผลิต รวมกันซื้อ รวมกันขาย สะสมเงินกองกลางของกลุ่ม และรวมกันแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันของบรรดาสมาชิก
(14) ดำเนินการในเรื่องมอบอำนาจให้กรรมการดำเนินการคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการดำเนินการแทนสหกรณ์
(15) เสนอแผนงาน และเป้าหมายในการดำเนินงาน รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ที่ประชุมใหญ่สามัญอนุมัติ
(16) พิจารณาดำเนินการ เรื่องทรัพย์สินของสหกรณ์ ดังที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(17) พิจารณากำหนดกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่สหกรณ์
(18) พิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาของสหกรณ์ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
(19) กำหนดระเบียบต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์
(20) พิจารณาเสนอค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ของคณะกรรมการดำเนินการ ผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่เพื่ออนุมัติ
(21) กำหนดค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าเช่าที่พักของอนุกรรมการ คณะทำงาน กลุ่มสมาชิก ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของสหกรณ์ตามที่เห็นสมควร
(22) ดูแลที่ดิน สำนักงาน อาคาร อุปกรณ์ และทรัพย์สินอื่น ๆ
(23) พิเคราะห์และปฏิบัติตามข้อบันทึกของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(24) ชำระค่าบำรุงให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
(25) ฟ้อง ต่อสู้หรือดำเนินคดีที่เกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด
(26) พิจารณาให้ความร่วมมือ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและเผยแพร่กิจการสหกรณ์ คำแนะนำช่วยเหลือทางวิชาการต่อสหกรณ์ ตลอดจนการศึกษาฝึกอบรมวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการสหกรณ์
(27) ดำเนินกิจการอย่างอื่น บรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
ความรับผิดชอบของกรรมการดำเนินการ
ข้อ 53. ความรับผิดชอบของกรรมการดำเนินการ ถ้ากรรมการดำเนินการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย กรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ และตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542
คณะกรรมการเงินกู้
ข้อ 54. คณะกรรมการเงินกู้ ให้คณะกรรมการดำเนินการตั้งกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการเงินกู้ โดยให้มีตำแหน่งประธานกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการเงินกู้ให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง
ให้คณะกรรมการเงินกู้ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ และให้ประธานกรรมการเงินกู้ หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ต้องมีกรรมการเงินกู้เข้าประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเงินกู้ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการเงินกู้ ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการ ในการประชุมคราวถัดไปพิจารณา
ข้อ 55. อำนาจหน้าที่คณะกรรมการเงินกู้ ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการให้เงินกู้แก่สมาชิกตามข้อบังคับ ระเบียบ มติและคำสั่งของสหกรณ์ รวมทั้งข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบหลักฐานการขอกู้ให้ถูกต้องและมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
(2) ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิก ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ใช้เงินกู้นั้น
(3) ดูแลการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
(4) สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตามที่เห็นควร
ข้อ 56. คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ในกรณีที่จำเป็นแก่การดำเนินงาน คณะกรรมการดำเนินการอาจมีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการต่าง ๆ หรือคณะทำงาน เพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจของสหกรณ์โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
ประธานในที่ประชุม
ข้อ 57. ประธานในที่ประชุม ในการประชุมใหญ่หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย ก็ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการดำเนินการคนหนึ่ง ขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการเงินกู้ ให้ประธานคณะกรรมการนั้นๆ เป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
การออกเสียง และการวินิจฉัยในที่ประชุม
ข้อ 58. การออกเสียง สมาชิก หรือกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น ๆ ออกเสียงในที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ สุดแต่กรณีได้เพียงคนละหนึ่งเสียง จะมอบให้ผู้อื่นมาประชุมออกเสียงแทนตนไม่ได้
ในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติเสนอให้ลงคะแนนให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ หรือวิธีการอื่นใดอันเป็นการเปิดเผยว่าสมาชิกได้ลงคะแนนเช่นไร เว้นแต่ก่อนการลงคะแนน มีสมาชิกร้องขอให้มีการลงคะแนนลับ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา
ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้ส่วนเสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้
ข้อ 59. การวินิจฉัยปัญหา เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นพิเศษในข้อบังคับนี้การวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่นๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้ถือเสียงสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
(1) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(2) การเลิกสหกรณ์
(3) การควบสหกรณ์
(4) การแยกสหกรณ์
รายงานการประชุม
ข้อ 60. รายงานการประชุม ในการประชุมใหญ่หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่นๆ นั้น ต้องจัดให้ผู้เข้าประชุมลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งบันทึกเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยทั้งสิ้นไว้ในรายงานการประชุม และให้ประธานในที่ประชุม กับกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่นๆ แล้วแต่กรณีอีกคนหนึ่งที่เข้าประชุมนั้น ๆ ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ