หมวด 6
การประชุมใหญ่
ข้อ 40. การประชุมใหญ่สามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เรียกประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้งภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
ข้อ 41. การประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการดำเนินการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็สุดแต่จะเห็นสมควร แต่ถ้านายทะเบียนสหกรณ์แจ้ง ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้า แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ได้รับแจ้ง
สมาชิกสามัญซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน ลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ ในกรณีที่สมาชิกสามัญได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของสหกรณ์ และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รับคำร้องขอ
ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสหกรณ์ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร
ข้อ 42. การประชุมสมาชิก คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมสมาชิกในระหว่างปี เมื่อใดก็สุดแต่จะเห็นสมควร
สมาชิกสามัญซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสามสิบห้าคน ลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการ ให้เรียกประชุมสมาชิกเมื่อใดก็ได้ ในกรณี ที่สมาชิกสามัญได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมสมาชิกภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รับคำร้องขอ
ข้อ 43. การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ เมื่อจะมีการประชุมใหญ่ทุกคราว ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้งวัน เวลา สถานที่ และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิกทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วน อาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบล่วงหน้าในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สมาชิกทราบด้วย
ข้อ 44. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ถ้าสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญหรือการประชุมใหญ่สมาชิก ที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุมแล้ว เมื่อมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสามสิบคน ก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
ข้อ 45. อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องทั้งปวงที่เกิดขึ้นของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) รับทราบเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ สมาชิกออกจากสหกรณ์
(2) รับทราบรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ของคณะกรรมการดำเนินการ และรายงานของผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์
(3) รับทราบผลการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ที่สหกรณ์เป็นสมาชิกอยู่
(4) พิจารณาสมาชิกที่จะถูกให้ออกจากสหกรณ์ ตามข้อ 34
(5) พิจารณางบดุล และจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์
(6) พิจารณาแผนงานหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์
(7) พิจารณากำหนดวงเงินกู้ยืมซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืมหรือค้ำประกัน
(8) พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(9) พิจารณากำหนดค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ในการปฏิบัติงานของกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น ๆ และผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์
(10) พิจารณาเลือกตั้ง ถอดถอนกรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์
(11) พิจารณาบันทึกของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้ตรวจสอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง
(12) พิจารณาโครงการ หรือข้อเสนอของกลุ่มสมาชิก ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อหนุนบรรดาสมาชิก ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์